วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การบันทึกข้อมูลงบประมาณ ปี 2561 ในระบบ e-GP

         บางหน่วยงานมีการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินงบประมาณปี 2561 เมื่อทำการบันทึกข้อมูลลงในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในกรณีที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินงบประมาณต้องมีการกรอกรหัสงบประมาณพร้อมจำนวนเงินลงไปในระบบด้วย แต่ ณ เวลานี้ รหัสงบประมาณปี 2561 ยังไม่ออก สามารถแก้ไข โดยอ้างอิงจาก หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0405.2/ว 0220 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 แจ้ง แนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดการจัดหาพัสดุก่อนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
ที่มา : ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การปรับปรุงระบบจัดซื้อฯ ในส่วนของการยกเลิกประกาศเชิญชวน


 การปรับปรุงระบบจัดซื้อฯ ในส่วนของการยกเลิกประกาศเชิญชวน

         กรมบัญชีกลาง ได้เพิ่มเติมการบันทึกรายการในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในส่วนของการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ โดยให้ส่วนราชการระบุข้อมูลว่า ต้องการจัดทำโครงการใหม่หรือไม่ในส่วนของการยกเลิกประกาศเชิญชวน (ดังภาพ)

            
           ทั้งนี้ เดิมเมื่อส่วนราชการจัดทำโครงการใหม่แล้ว ต้องจัดทำแบบ egp01-0114 กรณีผู้ค้าดาวน์โหลดโอกสารโดยไม่ต้องชำระเงิน เพื่อขอให้กรมบัญชีกลางเพิ่มข้อมูลในส่วนที่ผู้ซื้อเอกสารในประกาศประกวดราคาโครงการเดิม  สามารถดาวโหลดเอกสารได้ในโครงการใหม่แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ผู้ค้าภาครัฐ , ผู้ค้าในระบบ GFMIS คืออะไร
ผู้ค้าภาครัฐ คือ ผู้ค้าที่จดทะเบียนพานิชย์ในลักษณะ ร้านค้าบุคคลธรรมดา เจ้าของคนเดียว , ห้างหุ้นส่วนจำกัด , บริษัทจำกัด หรืออื่นๆตามกฏหมายกำหนด โดยผู้ค้าต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐกับทางคลังจังหวัด หรือ กรมบัญชีกลาง เพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐและ สามารถที่จะทำการค้าขายกับหน่วยงานรัฐทั่วไปประเทศ โดยผ่านเว็บไซต์ http://www.gprocurement.go.th
ผู้ค้าในระบบ GFMIS  คือ ผู้ค้าภาครัฐ ที่มีซื้อ/จ้าง/เช่า โดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยหน่วยงานรัฐดังกล่าวใช้เงินงบประมาณในการซื้อ/จ้าง/เช่า ดังกล่าว โดยผู้ค้าต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้าในระบบ GFMIS กับหน่วยงานของทางภาครัฐที่ทำการซื้อ/จ้าง/เช่า นั้นๆ เพื่อที่หน่วยงานจะนำข้อมูลส่งให้ทางกรมบัญชีการ และเมื่อถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ทางหน่วยงานจะส่งเรื่องให้ทางกรมบัญชีกลางจะทำการโอนเงินเข้าไปที่บัญชีของผู้ค้าโดยตรงตามที่ลงทะเบียนไว้

เมื่อต้องทำการค้ากับหน่วยงานภาครัฐ ต้องทำอะไรก่อน ?
  สิ่งแรกคือผู้ค้าต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐก่อน เพราะ การซื้อจ้าง ส่วนมากเจ้าหน้าที่พัสดุต้องทำดำเนินการซื้อจ้างผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถ้าผู้ค้ายังไม่ลงทะเบียน ระบบจะไม่อนุญาตให้จัดซื้อจัดจ้างให้กับผู้ค้าดังกล่าว

ผู้ค้าในระบบ GFMIS ต้องสมัครเมื่อใด
  การที่ผู้ค้าจะลงทะเบียนเป็นผู้ค้าในระบบ GFMIS นั้น ต้องรอให้หน่วยงานที่ผู้ค้าทำการซื้อขายเป็นผู้แจ้งเท่านั้น เพราะ การเป็นผู้ค้าในระบบ GFMIS นั่นจะต้องโอนเงินจากส่วนกลางผ่านทางบัญชีผู้ค้าเท่านั้น ผู้ค้าต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้าในระบบ GFMIS เป็นหน่วยงานไป เพื่อความถูกต้องของข้อมูล ในกรณีที่ผู้ค้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น บัญชีธนาคารที่ต้องการให้ภาครัฐโอนเงินค่าสินค้าหรือบริการเปลี่ยน ผู้ค้าต้องทำหนังสือแจ้งหน่วยงานทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ค้าเอง

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

โครงสร้าง พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

โครงสร้าง พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แบ่งออกเป็น 15 หมวด จำนวน 132 มาตรา ดังนี้
มาตรา 1–5 บทนิยาม
มาตรา 6–15 หมวด 1 บททั่วไป
มาตรา 16-19 หมวด 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต
มาตรา 20-45 หมวด 3 คณะกรรมการ
ส่วนที่ 1 คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ส่วนที่ 2 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ส่วนที่ 3 คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
ส่วนที่ 4 คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต
ส่วนที่ 5 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน
มาตรา 46-50 หมวด 4 องค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
มาตรา 51-53 หมวด 5 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
มาตรา 54-68 หมวด 6 วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
มาตรา 69-78 หมวด 7 วิธีการจ้างที่ปรึกษา
มาตรา 79-92 หมวด 8 วิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน
มาตรา 93-99 หมวด 9 การทำสัญญา
มาตรา 100-105 หมวด 10 การบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ
มาตรา 106-108 หมวด 11 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ
มาตรา 109-111 หมวด 12 การทิ้งงานและการเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน
มาตรา 112-113 หมวด 13 การบริหารพัสดุ
มาตรา 114-119 หมวด 14 การอุทธรณ์
มาตรา 120-121 หมวด 15 บทกำหนดโทษ
มาตรา122-132 บทเฉพาะกาล

1. การบังคับใช้
ให้ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุ ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับประกาศข้อบัญญัติ และข้อกำหนดใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศ 24 กุมภาพันธ์ 2560)
2. นิยามศัพท์สำคัญ
“การจัดซื้อจัดจ้าง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่าแลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“พัสดุ” หมายความว่า สินค้า งานบริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“การบริหารพัสดุ” หมายความว่า การเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การยืม การตรวจสอบ การบำรุงรักษา และการจำหน่ายพัสดุ
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณองค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เจ้าหน้าที่”หมายความว่า ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ หรือผู้ที่ได้รับ มอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ
3. หลักการการจัดซื้อจัดจ้าง
หลักการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรวจสอบได้
4. ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง
การจัดหาพัสดุโดยวิธีใดตามพระราชบัญญัตินี้จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดและภายในวงเงินเท่าใด ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรี (รมต.การคลัง) กำหนด
5. คณะกรรมการและองค์กรดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง
กำหนดให้มีคณะกรรมการและองค์กร ได้แก่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนและกำหนดให้กรมบัญชีกลางเป็นองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
6. วิธีการการจัดซื้อจัดจ้าง
การจัดซื้อจัดจ้างอาจกระทำได้โดยวิธี
1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ
2) วิธีคัดเลือก ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอเว้นแต่ในงานนั้นมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่าสามราย
3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคารวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้เลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน เว้นแต่เข้าลักษณะของเงื่อนวิธีการคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง รายละเอียดของวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในหมวดนี้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
7. การดำเนินการจัดหาพัสดุ
โดยในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุแต่ละครั้ง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ซึ่งจะกระทำโดยคณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้างหรือเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งก็ได้องค์ประกอบและองค์ประชุมซึ่งกระทำโดยคณะกรรมการ และหน้าที่ของผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดค่าตอบแทนผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในการบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุเพื่อรับผิดชอบการบริหารสัญญาหรือข้อตกลงและการตรวจรับพัสดุองค์ประกอบ องค์ประชุม และหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
ในกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างมีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจะแต่งตั้งบุคคลหนึ่ง บุคคลใดเป็นผู้ตรวจรับพัสดุนั้น โดยให้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุก็ได้ผู้รับผิดชอบการบริหารสัญญาหรือข้อตกลงและการตรวจรับพัสดุซึ่งไม่ใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
8. การบริหารพัสดุ
ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการควบคุมและดูแลพัสดุที่อยู่ในความครอบครองให้มีการใช้และการบริหารพัสดุที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐมากที่สุด ซึ่งรวมถึงการเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การยืม การตรวจสอบ การบำรุงรักษา และการจำหน่ายพัสดุ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
9. บทกำหนดโทษ
ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามข้างต้น
10. บทเฉพาะกาล
ให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ.2535 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2549 และบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติและข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐอื่น รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ในเรื่องนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทำไมถึงยังสามารถใช้วิธีการจัดหาพัสดุ โดยวิธี ตกลงราคา หรือ สอบราคาได้อยู่ ทั้งที่มีการประกาศให้จัดหาโดยวิธี e-Market และ e-bidding

             ตามที่ประชุม กวพ.ได้มีมติขยายระยะเวลามาตรการเพิ่มความคล่องตัวในการจัดหาพัสดุของส่วนราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 145 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 สำหรับใช้จัดหาพัสดุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ออกไปพลางก่อน จนถึงวันที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุจะมีผลใช้บังคับเพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความคล่องตัว สามารถเบิกจ่ายเงินโดยเฉพาะแผนงาน โครงการขนาดเล็กเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการในปีงบประมาณ 2560 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง

              ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาในการกำหนดวงเงินวิธีการจัดหาพัสดุของส่วนราชการ ตาม ว 299 เดิม ประกอบด้วย

1.การซื้อหรือการจ้างราคาไม่เกิน 500,000 บาท ใช้วิธีตกลงราคา

2.การซื้อหรือการจ้างตั้งแต่ราคา 500,000 – 2,000,000 บาท ใช้วิธีสอบราคา

3.การซื้อหรือการจ้าง ตั้งแต่ราคา 2,000,000 บาทขึ้นไป ให้ส่วนราชการใช้วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แล้วแต่กรณี

4.การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีราคาเกิน 500,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 23 หรือ 24 แล้วแต่กรณีๆ ไป ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0405.2/ว 315 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2559